วันออกพรรษา หมายถึง วันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัย ที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด ๓ เดือน ในฤดูฝนกล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิฐาน อยู่จำพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ (หรือ เดือน ๙ กรณีเข้าพรรษาหลัง) แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หรือเดือน ๑๒ ในกรณี เข้าพรรษาหลัง) หลังจากนี้ ก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ วันออกพรรษานี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา หรือวันมหาปวารณา คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อน พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ฟังหรือ สงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน ซึ่งวันออกพรรษา นับเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนาด้วยเหตุผลดังนี้
๑. พระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
๒. เมื่อออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรม และประสบการณ์ที่ได้รับ ระหว่างพรรษาไปเผยแพร่แก่ประชาชน
๓. ในวันออกพรรษา พระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้ เพื่อนภิกษุว่ากล่าวตักเตือน เรื่องความประพฤติของตน เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ความเคารพนับถือ และความสามัคคีกันระหว่างสมาชิกของสงฆ์
๔. พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่าง ไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเอง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตน และสร้างสรรค์สังคมต่อไป
สำหรับประวัติความเป็นมาในวันออกพรรษา ได้กล่าว ไว้คือ
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถีนั้น มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง แยกย้ายกันจำพรรษาอยู่ตามอารามรอบๆ นคร พระภิกษุเหล่านั้น เกรงจะเกิดการขัดแย้ง ทะเลาะวิวาทกันจนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร) เมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุเหล่านั้น ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้า จึงทรงตำหนิว่า อยู่กันเหมือนฝูงปศุสัตว์ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า
"อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง วุตถานัง ภิกขูนัง ตีหิ ฐาเนหิ ปะวาเรตุงทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา..."แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากัน ในสามลักษณะคือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วย การสงสัยก็ดี
๒. การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย วันออกพรรษานี้ เป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชน ฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำบุญทำทาน รักษาศีลและฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเนื่องด้วยวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ประเพณีตักบาตรเทโว คำว่า ตักบาตรเทโว มาจากคำเต็มว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ คือ การตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้า เสด็จลงจากสวรรค์ขั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดง ยมกปฏิหารย์ (ปฏิหาริย์เป็นคู่ ๆ) ที่ต้นมะม่วง ใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไป จำพรรษาที่ ๗ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรด พุทธมารดาเป็นเวลา ๓ เดือน ครั้นออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าจึง เสด็จลงสู่มนุษย์โลกทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ
ในเทศกาลออกพรรษานี้ มีหลักธรรมสำคัญ ที่ควรนำไปปฏิบัติ คือปวารณา ปวารณา ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ การปวารณานี้ อาจแบ่งบุคคลออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ
๑. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตา ทางกาย ทางวาจาและทางใจพร้อมมูล
๒. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดี ของผู้ตักเตือน ดีใจมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้ การปวารณานี้ จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคี และดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้านได้ด้วย เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัวในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยราชการ เป็นต้น
การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันออกพรรษา และกิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว
๑. ทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน
๒. ศึกษาเอกสาร และสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรม เรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติในครอบครัว
๓. สมาชิกในครอบครัว ปรึกษา หารือ หาแนวทางในการป้องกันการแก้ปัญหา โดยใช้หลักธรรม คือ ปวารณา
๔. นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน
๕. ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรม เจริญภาวนา ในกรณีที่เป็นวันหยุด
กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา
๑. ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
๒. ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษา ถึงความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรม เรื่องปวารณา และแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา
๓. ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการ ประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม
๔. ครูให้นักเรียนจัดทำรายงาน เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีกับพฤติกรรมที่ไม่ดี และวางแผนพัฒนาพฤติกรรมของตน โดยมีเป้าหมาย จะพัฒนาพฤติกรรมที่ดีให้มากขึ้น และลดพฤติกรรมไม่ดีให้น้อยลง
๕. ประกาศเกียรติคุณของนักเรียน ที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
๖. ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เจริญภาวนา ในกรณีที่เป็นวันหยุด
กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน ๑. ทำความสะอาดบริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
๒. ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติในถานที่ทำงาน
๓. จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม
๔. ร่วมกับบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต
๕. หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม ในกรณีที่เป็นวันหยุด
๖. จัดทำป้ายนิเทศ เกี่ยวกับอุดมการณ์ในการทำงาน โดยมีเป้าหมายจะละเว้นการกระทำชั่วในเรื่องใด ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น